Saturday, March 21, 2009

ปลาทะเลกับการเลี้ยงในตู้ด้วยน้ำเกลือ

ปลาทะเลกับการเลี้ยงในตู้ด้วยน้ำเกลือ
ปลาทะเลสวยงามตามแนวปะการังตามอาศัยความสมดุลของน้ำทะเลซึ่งมีปริมาณมากจากแหล่งน้ำหมุนเวียนประกอบกับแร่ธาตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งมีค่าคงที่อีกทั้งความเป็นกรดเป็นด่างซึ่งพอดีกับสี่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบ ทำให้เป็นที่มาของมนุษย์ซึ่งต้องการท้าทายธรรมชาติ โดยการนำปลาทะเลสวยงามกับปะการังหลายชนิดมาเลี้ยงไว้ในตู้ โดยการใช้น้ำทะเลซึ่งมีขายในตลาดปลาสวยงาม แต่ก็มีปัญหามากมายโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลง
การใช้น้ำผสมกับเกลือซึ่งผลิตขึ้นเพื่อการนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการเลือกชนิดของเกลือ ให้เหมาะสมกับชนิดของปลาทะเลที่ต้องการ เกลือจะมีอยู่สองเกรดคือ เกรดวิทยาศาสตร์กับเกรดเภสัชกรรม เกลือทั้งสองชนิดได้มีการเติมแต่งแร่ธาตุที่จำเป็น และปัจจุบันยังได้ผลิตเกลือเกรดพิเศษ ที่เรียกว่าReef Salt ซึ่งเน้นการเลี้ยงปะการังโดยตรง แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าทีควรเพาะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าเกลือทั้งสองเกรดดังกล่าวถึงเท่าตัว

ปักเป้าทอง

ปักเป้าทอง

ชื่อไทย : ปักเป้าทอง ปักเป้าเขียวชื่อสามัญ : GOLD PUFFER , GREEN PUFFERชื่อวิทยาศาสตร์ : Chonerhinus modestus.ถิ่นอาศัย : แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง ปักเป้าทองจัดอยู่ในวงศ์ (Familty Tetraocloncidac) มีลักษณะเด่น คือ มีฟัน 4 ซี่ รูปร่างแบนข้างมากกว่าปลาปักเป้าทั่วไป สีลำตัวเป็นสีเขียวทองสดใสด้านท้องสีขาว มีครีบหลังและครีบทวารค่อนข้างใหญ่ ทำให้ว่ายน้ำเร็วกว่าปลาปักเป้าชนิดอื่นๆ นิสัยปลาชนิดนี้จะดุร้ายมากหากอยู่ในที่แคบจำกัดและถ้าหากอาหารไม่เพียงพอมักจะกัดทำร้ายกันเสมอ ในธรรมชาติมักจะกัดกินปลาชนิดอื่น หรือแม้แต่ กุ้ง ปูและหอย โดยใช้ฟันที่คมแข็งแรง ทำให้ลูกปลาปักเป้าทองขนาดเล็กเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อควบคุมและกำจัดหอยในตู้พรรณไม้น้ำ เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดแท้และไม่กินพรรณไม้น้ำ ข้อเสียของปลาชนิดนี้คือ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ ปลาปักเป้าทองจะอาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นลงของแม่น้ำสายใหญ่ ปลาชนิดนี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงและจะกัดทำร้ายคนที่ลงไปในน้ำ เป็นปลาที่เด็กๆและชาวริมน้ำกลัวและเกลียดมากที่สุดชนิดหนึ่ง
การเลี้ยงปลาปักเป้าในตู้เลี้ยงเฉพาะ สภาพน้ำ เป็นน้ำจืดอาจใส่เกลือลงไปเล็กน้อย อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส น้ำสะอาดมีระบบกรองที่ดี อ๊อกซิเจนค่อนข้างสูง pH 7-7.5ขนาดตู้ ความจุไม่ต่ำกว่า 100 ลิตรสภาพแวดล้อม ตกแต่งด้วยหินและตอไม้ มีมุมหลบซ่อนกระจายกัน อาจปลูกไม้น้ำที่มีลำต้นใหญ่แข็งแรง รวมในตู้ด้วยก็ได้อุปนิสัย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง อาจจะกัดกันเองได้ถ้าเลี้ยงในพื้นที่แคบเกินไป ควรเลี้ยงอย่างน้อย 5-10 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดตู้ที่ใช้เลี้ยงอาหาร เนื้อสดทุกชนิด เช่น กุ้งฝอย ปลา ปลาหมึกและเนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาปักเป้าทองเป็นปลาของไทยที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มว่ายน้ำกันเป็นฝูง จัดเป็นปลาไทยที่น่าสนใจเลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง

ปลาตะเพียนหน้าแดง

ปลาตะเพียนหน้าแดง
ปลาตะเพียนหน้าแดง (Line Puntius)ปลาตะเพียนหน้าแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntius denisonii และมีชื่อสามัญว่า Red Line Puntius ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่จะต้องนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย ปลาตะเพียนหน้าแดงนี้เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพน้ำต่างๆได้ ถ้ามีการพักปลาหลังจากนำเข้ามาแล้ว และยังเป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งอาหารที่มีชีวิตและอาหารสำเร็จรูป ซึ่งลักษณะภายนอกของปลาชนิดนี้คือ ลำตัวคล้ายกับปลาตะเพียน แต่จะออกทรงยาวคล้ายซิวหางกรรไกร มีขีดสีดำตามยาวของลำตัวตั้งแต่ปากผ่านตาไปจนถึงโคนหาง จุดเด่นของมันก็คือ มีขีดสีแดงขนาดใหญ่อยู่เหนือเส้นสีดำ โดยขีดสีแดงนี้ เริ่มตั้งแต่ปากไปจนถึงกลางลำตัวเป็นสีแดงสดชัดเจนมาก และกระโดงของมันยังมีสีแดงอีกด้วย ลำตัวของมันจะออกสีเงินๆ ส่วนปลายหางจะมีแถบสีเหลืองและดำอยู่ตรงปลาย ทำให้ดูลายสวยงามไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีสีสันสดดูน่ามอง ปลาชนิดนี้มี 2 สายพันธุ์ซึ่งคล้ายกันโดยจะเรียกชื่อต่างกันคือ ปลาชนิดที่มีหัวสีแดงและนำเข้ามาตั้งแต่แรก เรียกว่า Red Nose และปลาชนิดหลังที่เพิ่งมีการนำเข้ามามากโดยมีพื้นที่มีแดงมากกว่านั้น เรียกว่า Red Line ปลาทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ สามารถเลี้ยงได้ในน้ำที่มี pH กลางๆ และเนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ทำลายหรือกินต้นไม้น้ำ จึงเหมาะแก่การเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำ ซึ่งจะเป็นการตัดกันของสีที่เหมาะสมมาก ระหว่างสีแดงของปลาและฉากหลังสีเขียวของต้นไม้น้ำ ทำให้ปลาดูโดดเด่นเวลาว่ายน้ำเป็นฝูง แม้ว่าปลาชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตนั้นไม่เร็วมากนัก หากควบคุมปริมาณการให้อาหาร แล้วมีความเป็นไปได้สูงที่ปลาจะคงขนาดเล็กได้เป็นระยะเวลานาน โดยหากเลี้ยงไว้ประมาณ 5-10 ตัว เมื่อมันว่ายน้ำเป็นกลุ่มเป็นฝูงแล้ว จะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของปลาชนิดนี้ ซึ่งอยากให้ทุกท่านได้ชื่นชมความสวยงามของปลาชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง

ปลาอโรวาน่าสีทองที่พบในไทย

ปลาอโรวาน่าสีทองที่พบในไทย

ราวกลางปี พ.ศ.2545 มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงข่าวคอลัมน์เล็กๆอยู่หน้าด้านใน ว่ามีการจับปลามังกรสีทองได้ในไทย เนื้อความในข่าวบอกว่า ที่ตลาดของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาของอุทยานแห่งชาติบางลางมีชาวป่าที่อาศัยอยู่บนนั้น ได้นำเอาปลามังกรและของป่าที่หาได้ นำลงมาแลกเปลี่ยนอาหาร และสิ่งยังชีพ ปลามังกรที่นำลงมา มีจำนวน 3 ตัว และเสียชีวิตแล้ว ขนาดความยาวโดยประมาณ 70 เซ็นติเมตร เกล็ดตามลำตัวมีขนาดใหญ่ และมีสีทอง ปกติปลามังกรที่พบเมืองไทยจะมีเพียง ตะพัดเขียว และตะพัดสีนาก โดยแหล่งที่ค้นพบจะอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง สุราษฏร์ธานี และที่บึงนํ้าใสจังหวัดยะลาสำหรับปลาอโรวาน่าสีทองจะพบที่ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียชาวป่าที่จับปลามังกรและนำของป่ามาเเลกปลี่ยนสิ่งของและอาหารนี้อาศัยอยู่ บนเทือกเขาบนอุทยานแห่งชาติบางลาง มานานแล้ว และอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆมีไม่กี่ครอบครัว ไม่สามรถพูดภาษาไทยได้ อาหารมักหาเอาตามป่า และจับปลาในลำธารบนเทือกเขานั่นเอง ซึ่งบางครั้งหาก้ได้ปลามังกรชนิดนี้ ก็จะพากันนำไปกินเป็นอาหาร นานๆทีจึงจะนำของป่าที่หาไดมากพอ้ ลงมาแลกเปลี่ยนยังหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับเชิงเขา ซึ่งใช้เวลาในการเดินเท้ามานานถึง 3 วันเมื่อได้สอบถามกับผู้ที่ทำงานอยู่ในกรมประมงท่านหนึ่ง ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับ การพบปลาอโรวาน่าสีทอง ว่ามี่ปลาชนิดนี้อยู่จริงและเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับปลาอโรวาน่าสายพันธุ์ทองมาเลย์ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาปลาอโรวาน่าเอเซีย พร้อมทั้งยังได้ให้รายละเอียดว่าเมื่อครั้งที่กรมประมงจังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้เริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2528 นั้น ทางกรมประมงได้ออกสำรวจตามแม่นํ้าสายต่างๆ ที่มีข่าวว่ามีการจับปลาอโรวาน่าได้ โดยรวบรวมทั้งการรับซื้อจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการประมงและออกค้นหาจับเองจากแหล่งนํ้านั้นๆ ปลาอโรวาน่าที่รวบรวมได้จะ เป็นปลาอโรวาน่าเขียว (ตะพัดเขียว) และอโรวาน่าสีนากลักษณะของแหล่งนํ้าที่ค้นพบ มักจะเป็นแม่นํ้าที่มีทางออกติดกับทะเล หรือลำธารที่มีนํ้าสะอาดไหลอยู่ตลอดเวลา เช่น บริเวณต้นนํ้าเหนือเขื่อนรัชประภา และบึงนํ้าใสอําเภอรามัน จ.ยะลา ในขณะนั้นปลาอโรวาน่าที่รับซื้อจากชาวบ้าน ไม่ได้มีราคาสุงอย่างเช่นในปัจจุบันราคารับซื้อจากชาวบ้านในขณะนั้น มีราคาเพียงตัวละ 3-400บาท แต่ในปัจจุบันนี้ มีผู้รับซื้อจากกรุงเทพเพื่อนําไปขายต่อ ทำให้ราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว ชาวบ้านที่จับปลาอโรวาน่าได้ จึงมักนิยมขายให้กับพ่อค้าจากกรุงเทพ จนปัจจุบันมีปลาอโรวาน่าเหลืออยู่น้อยมากเจ้าหน้าที่กรมประมงเคยออกไปสำรวจ บนเอุทยานแห่งชาติบางลาง และล่องเรือออกไปตามแหล่งนํ้าบนเทือกเขา ก็ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ อยู่บนภูเขาสูงและมีป่ารกทึบ ไม่สามารถนำรถยนต์ขึ้นไปได้ ต้องอาศัยเพียงเท้าเดินได้อย่างเดียวและมักมีขบวนการโจรก่อการร้ายหลบซ่อนอยู่ และบางครั้งของการออกสำรวจ มักจะมีกระสุนปืนของฝ่ายผู้ก่อการร้าย พุ่งสาดเข้าใส่อยู่เสมอจนต้องยุติโครงการสำรวจเอาไว้เพียงเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถที่จะรับซื้อปลาอโรวาน่าซึ่งมีเกล็ดสีทอง ได้บ้างจากชาวป่าที่นำ ลงมาขายให้ที่หมุ่บ้านใกล้ชายเขา เจ้าหน้าที่กรมประมงท่านนี้ ได้ให้เหตุผลที่มีปลาอโรวาน่าสีทอง เช่นเดียวกับของประเทศมาเลเซียนี้ว่า แม่นํ้าลำธารที่อยู่บนเทือกเขาซึ่งมีอาณาเขตยาวจนเข้าไปถึงในประเทศมาเลเซีย โดยแหล่งนํ้าเหล่านี้ถือเป็นต้นนํ้า ของแม่นํ้าหลายสายในประเทศไทย และประเทศมาเลเซียอีกทั้งสถานที่ก็เป็นป่าดิบชื้น มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก ไม่มีผู้รุกรานป่าเหมือนเช่นอุยานแห่งชาติอื่นๆ โดยอุทยานแห่งชาติบางลางนี้ยังสามารถพบสัตว์ป่าที่แทบสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น กระซู่ กระทิง นกเงือก และสัตว์หายากประเภทอื่นอีกหลายชนิด(รายละเอียดของอุทยานแห่งชาติบางลาง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลาง บริเวณป่ารอบๆ อ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์ ทะเลสาบ เกาะ และมีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลาตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมเนื้อที่ประมาณ 461.04 ตารางกิโลเมตร หรือ 288,150 ไร่ )

Friday, March 20, 2009

การเลี้ยงปลาทะเลในตู้

การเลี้ยงปลาทะเลในตู้

การเลี้ยงปลาทะเลในตู้ สิ่งสำคัญอันดับแรกๆของการเลี้ยงปลาสวยงามโดยเฉพาะปลาทะเล คือสี่งที่อยู่ในช่องกรองก็มีอยู่หลายชนิดที่นิยมใช้ เช่น เศษปะการัง เปลือกหอย ไบโอบอล ไบโอริง ใส่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียในการย่อยสลายของเสียที่เกิดขึ้นในน้ำ การออกแบบวัสดุต่างๆส่วนมากจะออกแบบมาให้มีพื้นที่หน้าสัมผัสมากกว่าปกติ เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในระบบ วัสดุกรองเหล่านี้มีความแตกต่างกันซึ่งผมจะขออธิบายเพื่อให้เป็นตัวเลือกประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้สำหรับผู้ที่สนใจและกำลังจะเริ่มเลี้ยงปลาทะเล

ศษประการัง

คุณสมบัติที่ดีของเศษปะการัง คือ มีรูพรุนมาก การใส่เศษปะการังควรที่จะใส่เบอร์ใหญ่ด้านล่าง แล้วค่อยไล่ขึ้นมาเป็นเบอร์ละเอียด การใช้วัสดุชนิดนี้ระบบภายในตู้จะอยู่ตัวเร็วกว่าวัสดุชนิดอื่น แต่จะมีปัญหาเศษฝุ่นแก้ไขโดยการใช้ใยแก้วเป็นตัวกรองด้านบน อีกปัญหาหนึ่งคือสารเคมีที่ใช้ฟอกขาว ดังนั้นก่อนนำวัสดุชนิดนี้มาใช้ควรแช่น้ำไว้ก่อน

ไบโอบอล

เป็นวัสดุที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ทดแทนปะการัง ผิวหน้าของไบโอบอลจำนวนมากเป็นที่อยู่อาศัยอย่างดีของแบคทีเรียเช่นเดียวกับรูพรุนของเศษปะการัง และไบโอบอลมีน้ำหนักเบา ซึ่งมีความสะดวกมากในการใช้งาน ราคาจะถูกกว่าเศษปะการัง และที่สำคัญไม่ผิดกฏหมายด้วย

ไบโอริง

เป็นวัสดุที่สร้างขึ้นมาเลียนแบบเศษปะการังซึ่งนับเป็นวัสดุที่มีความใกล้เคียงเรื่องคุณสมบัติ โดยเฉพาะเรื่องรูพรุนที่เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย แต่กลับไม่นิยมใช้เพราะราคาของไบโอริงแพงมาก แต่ด้วยประสิทธิภาพสูง ผมคิดว่าไบโอริงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง เปลือกหอย เปลือกหอยเป็นวัสดุที่หาง่ายราคาถูก ระบบภายในตู้เกิดการเซตตัวได้เร็ว ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกนะครับ โดยเฉพาะคนที่ทุนน้อยแต่ใจรัก

ระบบกรองน้ำ

ระบบกรองน้ำตู้ปลาทะเลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในระบบปิด เพื่อที่จะใช้จัดการกับของเสียของสี่งมีชีวิต เพื่อให้สภาพน้ำในระบบมีความใกล้เคียงกับสภาพน้ำในธรรมชาติมากที่สุดโดยได้มีการออกแบบช่องกรอง วัสดุกรอง การบังคับทิศทางการไหลของน้ำ สถาพโครงสร้างทางนิเวศ์จำลองในตู้

สิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมานี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลาทะเลในตู้ และที่สำคัญอีกอย่าง รักปลาสวยงามแล้วอย่าลืมรักธรรมชาติด้วยนะครับ

การเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์

การเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์

ปลาปอมปาดัวร์ หรือจะเรียกว่าปลาดิสคัสก็ได้นะคะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon ชื่อสามัญก็คือ Discus อยู่ในครอบครัว Cichlidae รูปร่างลักษณะจะมีรูปทรงกลม ลำตัวแบน มีความกว้างของลำตัวมาก จนมีลักษณะคล้ายรูปจาน ครีบหลังและครีบท้องเรียงเป็นแถวยาวตลอดจนถึงโคนครีบหาง มีลวดลายและสีสันบนลำตัวหลายสีตามชนิดและสายพันธุ์ ปลาปอมปาดัวร์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงของเหล่านักเลี้ยงปลาสวยงามเพราะมีราคาดี ตลาดมีความต้องการมากทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ผู้เลี้ยงมือใหม่จึงมักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกันนัก ดังนั้นเรามาเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่เจ้าปอมปาดัวร์กันดีกว่า เริ่มต้นเมื่อเราต้องการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก่อนคือ บ้านของพวกมันนั่นเอง ควรที่จะมีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะนำปลามาเลี้ยง
1.ตู้ปลา เป็นตู้กระจก ขนาดที่ใช้ในการเลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่าต้องการขนาดใหญ่หรือเล็ก และความสะดวกของสถานที่ในการเลี้ยง ส่วนสถานที่วางตู้ควรวางในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่านมากนัก เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย
2.ระบบกรองน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และระบบการให้อากาศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้กับปลา และ Heater เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของน้ำด้วย
3.น้ำ ต้องแน่ใจว่าในน้ำไม่มีคลอรีนตกค้างอยู่ ควรมีการพักน้ำก่อนที่จะนำมาใช้ คุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ต้องเป็นน้ำที่สะอาด หากสภาพน้ำไม่เหมาะสมจะทำให้ปลาเกิดความเครียด มีอาการลำตัวดำคล้ำ สีไม่สดใส ดังนั้นควรดูแลใส่ใจคุณภาพน้ำเป็นพิเศษ คุณภาพน้ำที่เหมาะสมคือ มีค่า pH 6.4-7.5 อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส ควรมีการถ่ายน้ำ 10-20% ทุกวันหรือวันเว้นวัน
4.อาหาร ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง หรือตามความต้องการในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากถ้าหากอาหารเหลือจะทำให้น้ำเสียง่าย อาหารที่ใช้อาจเป็นอาหารสด เช่น ไรแดง ทะเล หนอนแดง หรืออาหารสำเร็จรูปก็ได้ เมื่อรู้ขั้นตอนการเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยงแล้ว จากนั้นก็เริ่มมองหาปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ที่เราชอบมาเลี้ยง ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงและมีการประกวดในงานปลาสวยงามต่างๆได้แก่ Brown Discus, Red Discus, Blue Diamon, Snake Skin, Striped Pigeon Blood, Solid Pigeon Blood, Cobolt Blue, San Merah และหลังจากที่เราซื้อปลามาแล้ว ก็นำถุงที่บรรจุปลามาลอยในน้ำเพื่อให้ปลามีการปรับสภาพตัวเอง แล้วก็ค่อยปล่อยปลาลงเลี้ยงในตู้ ทั้งหมดนั้นเป็นความต้องการของเจ้าปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งถ้ามีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีแล้ว เพียงแค่นี้เจ้าปอมปาดัวร์จะต้องอยากมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน

ปลานีออนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paracheirodon innesi ถูกค้นพบในอเมริกาใต้ บริเวณแม่น้ำในประเทศเปรู บราซิล และโคลัมเบีย ซึ่งปลานีออนเป็นปลาขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่ง เรามักจะเห็นปลานีออนถูกเลี้ยงรวมกับต้นไม้น้ำเสมอ…เรามาดูเทคนิคการเลี้ยงปลานีออนกันดีกว่า!!!การเตรียมอุปกรณ์การเลี้ยง

1. ตู้ปลาขนาด 14 นิ้วขึ้นไป การเลี้ยงปลานีออนให้สวยนั้นจะต้องเลี้ยงรวมกับต้นไม้น้ำและมีโขดหินให้ปลาซ่อนตัวและวางไข่

2. แสงไฟ ถ้าหากเราจะเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้วเราจะเล่นแสงเพื่อให้แสงตัดสีกับตัวปลา แต่ถ้าหากว่าเราจะเพาะนั้น แสงไฟที่แนะนำจะเป็นหลอดไฟกลมเล็ก 15 วัตต์ เนื่องจากไข่ของปลานั้นจะมีผลต่อแสงไฟค่อนข้างมาก เพราะจะทำให้ไข่ปลาเสียและฝ่อในที่สุด

3. ระบบกรอง จะใช้ระบบกรองข้าง ซึ่งจะช่วยให้การเลี้ยงง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลานีออนหรือปลาทุกชนิดก็คือระบบน้ำที่เป็นสภาพแวดล้อม ซึ้งจะเลี้ยงปลานีออนในช่วง pH 5.0-6.0 และอุณหภูมิที่ต้องการคือ 24 องศาเซลเซียส และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 1 สัปดาห์

4. Heater มีความจำเป็นต่อปลามากในฤดูหนาว ซึ่งอุณหภูมิที่ปลานีออนต้องการคือ 23-30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ Heater นี้ยังช่วยให้ปลาปลอดจากโรคจุดขาว เนื่องจากในฤดูหนาวปลาจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว จะทำให้ปลาอ่อนแอ และเชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงนี้ ดังนั้นการใช้ Heater ก็จะช่วยให้ดีขึ้น

5. ยาปรับสภาพน้ำ จะปรับสภาพน้ำให้เหมือนน้ำที่มาจากแหล่งที่เลี้ยง อาจใช้น้ำหมักจากใบหูกวางก็ได้

6. อาหาร ใช้อาหารสดพวกอาทีเมีย หรือ ไรแดงจากเทคนิคการเลี้ยงปลานีออนข้างต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้วยกันกับเทคนิคเฉพาะของผู้เลี้ยงเองก็ได้

Thursday, March 19, 2009

ปลาทองไม่ตาย เลี้ยงอย่างไร

ปลาทองไม่ตาย เลี้ยงอย่างไร

ปลาทองเป็นปลาซึ่งมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นปลาที่มนุษย์ผสมคัดพันธุ์ขึ้นมา จนได้ลูกปลาซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะออกมา หรือจะเรียกว่าเป็นปลาที่มีลักษณะพิกลพิการก็ได้ ซึ่งปลาเหล่านี้จะมีลักษณะค่อนข้างเปราะบางกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ปลาทองจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยเมื่อถูกปล่อยให้อยู่ร่วมสังคมกับปลาชนิดอื่น(เคยสังเกตไหมครับ) การเลี้ยงปลาทองหากจะว่ากันไปแล้วก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอะไร เพราะปลาสวยงามชนิดนี้จัดได้ว่าเป็นปลาที่มีความอึดดีอยู่แล้ว ที่สำคัญตอนซื้อต้องระวังปลาที่ป่วยอยู่แล้ว เพราะถ้าเรานำปลาป่วยมาเลี้ยง ต่อให้เลี้ยงดีแค่ไหนก็มีสิทธิตายได้ ดังนั้นเทคนิคการเลี้ยงปลาทองที่อยากแนะนำเพื่อให้ปลาทองอยู่กับเรานานๆ มีหลักพื้นฐานอยู่ 3 ข้อ


1.เลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสม โดยดูจากภาชนะที่ใช้เลี้ยง ตู้ที่นิยมเลี้ยงส่วนมากเป็นตู้ขนาด 60 ซ.ม. ( 24 นิ้ว ) จะใช้เลี้ยงปลาทองที่มีความยาว 3-4 ซ.ม. ประมาณ 7-8 ตัว ถ้าหากตู้ปลาไม่ค่อยประดับอะไรมากนัก ควรติดตั้ง”แอร์ปั้ม” เพื่อเป็นการเพิ่มอากาศในตู้ปลา ถ้าหากแอร์ปั้มมีขนาดใหญ่ ตู้ปลาขนาด 60 ซ.ม. จะสามารถเลี้ยงได้ถึง 15-20 ตัว แต่ต้องคำนึงถึงระบบกรองน้ำด้วย เพราะปลายิ่งมากน้ำก็จะยิ่งสกปรกเร็ว

2.การให้อาหาร การกินอาหารมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ปลาเสียการทรงตัว ดังนั้นการให้อาหารทีละน้อยๆจึงเป็นเรื่องที่ดี ถ้าให้อาหารมากเกินไป ปลากินไม่หมดหรือกินไม่ทั่ว เศษอาหารที่จมลงพื้นตู้หรือก้นบ่อจะเริ่มทำให้น้ำสกปรกได้ง่าย ทำให้เป็นปัญหาต่อผู้เลี้ยงโดยทั่วกัน เพราะเมื่อให้อาหารมากจนเกินไป การย่อยสลายเริ่มเลวลง อาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆเริ่มตามมา จะเห็นได้ชัดในช่วงหน้าหนาว

3.ระวังเรื่องคุณภาพน้ำที่แย่ลง สภาพน้ำที่แย่ลงนั้นสืบเนื่องได้หลายสาเหตุ เราควรจะเปลี่ยนน้ำใหม่เมื่อเจอสภาพน้ำดังนี้
-น้ำที่ขาวขุ่น
-เกิดเป็นฟองขาวขึ้น ไม่ยอมแตกหายไป
-ปลาทั้งหมดพร้อมใจลอยเชิดจมูกอยู่ตามผิวน้ำ -น้ำเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นอย่างกะทันหัน อาจเพราะแบคทีเรีย หรือแอมโมเนียในน้ำสูงเกินไป ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นพื้นฐานของนักเลี้ยงปลาสวยงามเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ การติดตามดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูปลาของท่านอย่างใกล้ชิด จะเป็นการช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียปลาทองอันเป็นที่รักของท่านได้นะครับ

ปลาหมอสี

ปลาหมอสี

ปลาหมอสีเป็นปลาน้ำจืดจัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae พวกเดียวกับปลานิล ปลาหมดเทศ ปลา ออสการ์ ปลาปอมปาดัวส์ เป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่าย อดทน มีพฤติกรรมที่หลากหลาย ถ้าผู้เลี้ยงไม่เข้าใจพฤติกรรมของปลาหมอสีก็จะทำให้ตายได้ง่าย ฉะนั้น ก่อนเลี้ยงก็ควรศึกษาหาอ่านจากตำราการเลี้ยงปลาหมอสีก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้มีหนังสือเกี่ยวกับปลาหมดสีทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่มากมาย ผู้เลี้ยงที่เพิ่งเริ่มต้นก็หาซื้อปลาที่มีราคาถูกหน่อยเลี้ยงหาประสบการณ์ก่อนแล้วค่อยไปซื้อชนิดราคาแพงเมื่อมีความสามารถมากขี้นแล้วหลักทั่วไปในการเลี้ยงหมอสีก็เหมือนกันกับการเลี้ยงปลาอื่นๆ คือ
1. น้ำต้องสะอาดไม่ควรมีเชื้อโรค ห้ามใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เฉพาะคลอรีนและปูนที่อยู่ในน้ำจะฆ่าปลาได้ในเวลาอันรวดเร็วควรพักน้ำประปาไว้สัก 2-3 วันจึงนำมาใช้
2. ใช้เครื่องกรองน้ำซึ่งหาซื้อได้ตามร้านทั่วไปเลือกให้เหมาะกับขนาดของตู้
3. ขนาดของตู้เลี้ยงควรจะใหญ่สักหน่อย ถ้าเลี้ยงพวกหมอสีพันธุ์เล็ก ความยาวของตู้ไม่ควรต่ำกว่า 24 นิ้ว ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 36 นิ้ว ควรมีสัก 2 ตู้ เพื่อเป็นตู้พักปลา 1 ตู้ ตู้เลี้ยง 1 ตู้
4. อาหารปลาหมอสีกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งเราหาซื้อได้ทั่วไปแต่ถ้าที่บ้านใกล้แหล่งเพาะยุงหรือใกล้บริเวณที่มีลูกน้ำลูกไรมาก และหาได้สะดวกก็ให้ลูกน้ำ ลูกไร เป็นอาหารจะดีมากทั้งประหยัดเงินและมีอาหารที่มีคุณค่าดี
5. ก้อนหิน ก้อนกรวด พันธุ์ไม้น้ำที่เราคิดว่าจะจัดลงไปในตู้นั้นควรจะทำความสะอาดให้ดี ก้อนหินก็ควรจะแช่น้ำลดความเป็นด่างลงพันธุ์ไม้น้ำก็ควรจะพักไว้ในถังหรือตู้อื่นๆ รอจนมันฟื้นตัวได้แล้วค่อยนำมาจัดในตู้
6. ตู้ปลาควรจะตั้งอยู่ใกล้กับที่พักน้ำเพื่อเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาได้สะดวก ปัญหานี้ดูเหมือนเล็กแต่ก็มีหลายๆรายที่เลิกเลี้ยงปลา เพราะต้องเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาบางรายถึงขั้นทะเลาะกันเพราะเกี่ยงกันเปลี่ยนน้ำตู้ปลา บางรายถูกคำสั่งห้ามเลี้ยงหลังจากการเปลี่ยนน้ำตู้ปลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบริเวณระหว่างที่พักน้ำกับตู้ปลาจะกลายเป็นเขตอันตรายสูงสุดต่อชีวิตของคนแก่และเด็ก รวมทั้งสตรีมีครรภ์ไปในทันที การลื่นหกล้มในบริเวณนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมาก
7. เวลา ถ้าคุณต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่งและกลับถึงบ้านประมาณไม่ถึงสี่ทุ่มดีในวันปกติ วันเสาร์ต้องตื่นสิบโมงเช้าเพื่อนอนชดเชยพอตื่นก็ต้องทำงานบ้านจิปาถะที่ค้างตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ แล้วก็ขอแนะนำว่าไปปลูกต้นไม้ดีกว่าเพราะปลาที่คุณเลี้ยงไว้นั้นมันพากันตายหมดแล้ว ก่อนเลี้ยงปลาต้องถามตัวเองก่อนว่ามีเวลาไหม และคนรอบข้างจะยินดีไหมที่คุณจะเลี้ยงปลา เพราะคนรอบข้างนั้นก็คือคนงานของคุณขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลา ถ้าเกิด คนงานสไตรท์ขณะเปลี่ยนน้ำไปได้ครึ่งเดียว ภาระทั้งหมดก็จะอยู่ที่คุณคนเดียวจริงๆ
เมื่อหลัก 7 ประการนี้คุณแก้ปัญหาได้แล้ว คราวนี้ก็เริ่มลงมือเลี้ยงกันได้ สมมุติว่าตู้ปลาจัดตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ตำราก็อ่านแล้วมีความมั่นใจ 100% ถุงใส่ปลาถูกแกะออกปลาฝูงแรกถูกปล่อยลงตู้แล้วทุกตัวพร้อมใจกันว่ายเข้าหาที่ซ่อน ไม่ต้องตกใจนั่นเป็นสัญญาณของปลา สักครู่ตัวที่กล้าหน่อยหรือตกใจน้อยหน่อยจะเริ่มว่ายน้ำสำรวจที่อยู่อาศัยใหม่ ตัวอื่นๆก็จะตามมาที่มีนิสัยรวมฝูงก็จะรวมกัน บางตัวก็ว่ายเที่ยวแล้วแต่ชนิดและนิสัยของแต่ละตัวไม่ต้องให้อาหารวันที่สองเมื่อปลาส่วนใหญ่สงบลงแล้วเริ่มให้อาหารเล็กน้อยเป็นอาหารมีชีวิตได้ก็ดีถ้าไม่มีอาหารเม็ดก็ได้ ให้น้อยๆดูจนกว่าปลาจะกินอาหารเม็ดหมด ทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเศษอาหารเหลือก็ให้ตักออกทิ้งไป สัปดาห์แรกผ่านไปคุณจะรู้สึกว่าตัวเองกะประมาณอาหารที่ให้ปลาได้ดีขึ้น อาหารที่ให้ไม่ค่อยเหลือซึ่งจะดีมากน้ำจะใสไม่เสีย ถ้ามีปลาตายก็รีบตักออกไปจากตู้โดยเร็ว สังเกตุด้วยว่าตายสภาพอย่างไร ถ้าครีบขาดรุ่งริ่งแสดงว่ามันกัดกัน แยกตัวที่ก้าวร้าวออกไปใส่ไว้ในตู้พักปลา ถ้าภายในสภาพตัวยังสมบูรณ์ก็เกิดจากหลายสาเหตุ และตายติดต่อกันทุกวันก็ต้องเปิดตำราและถามผู้รู้แล้วละ สัปดาห์ที่สอง-สาม-สี่ ปลาก็จะเริ่มคุ้นกับคุณแล้วละมันจะเริ่มมาหาคุณไม่กลัวคุณ ยิ่งคุณอยู่ดูมันมากเท่าใดมันก็จะยิ่งคุ้นกับคุณมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารระหว่างคุณกับปลาก็จะยิ่งรู้เรื่องกันมากขึ้น แต่คุณต้องไม่ลืมคนที่อยู่รอบข้างคุณนะครับ นานเข้าก็จะมีเสียงบ่นเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไรมัน(หมายถึงตัวคุณนะครับ) กลับจากเรียน(หรือทำงาน)แล้วก็นั่งขลุกอยู่หน้าตู้ปลาตลอด ถ้าเป็นแบบนี้คุณควรจะห่างจากปลาของคุณไปสนใจคนอื่นบ้าง แล้วหาเวลาช่วงก่อนนอนหรือคนอื่นพักผ่อนกันแล้วค่อยมาดูแลปลาของคุณ โดยสังเกตุปลาทุกตัวทีละตัว คุณจะพบว่ามันโตขึ้นมาก แข็งแรง สุขภาพดี ซึ่งเป็นความปรารถนาของคุณพอทุกอย่างเงียบสงบ คุณจะได้ยินเสียงกระซิบว่า ดูแลสุขภาพด้วยฉันก็เป็นห่วงคุณเหมือนกัน ก็พอดีได้เวลาเข้านอนรุ่งเช้าคุณตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นเพื่อไปเรียนหรือทำงานต่อตามเรื่องของคุณ

ปลาเสือสุมาตรา

ปลาเสือสุมาตรา

ปลาเสือสุมาตรา จัดเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาที่มีหางสวยได้ ก่อนอื่นใดการที่ท่านจะทำการเลี้ยงปลาแต่ละชนิด ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปลาที่ท่านอยากจะเลี้ยงก่อนว่ามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร การเลี้ยงจึงจะไปได้สวย

ถิ่นอาศัย ปลาเสือสุมาตรามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยจะพบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนใหญ่ปลาเสือสุมาตราจะอยู่แหล่งน้ำไหล อ่างเก็บน้ำ น้ำตกหรือบึงน้ำ เป็นต้น

ลักษณะ ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาในตระลปลาตะเพียนขนาดเล็ก เป็นปลาที่มีความสวยงาม ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวและแบนข้าง ปลาเสือสุมาตรามีอยู่หลายชนิดเช่น เสือสุมาตราลายเสือ เสือสุมาตราลายเสือแก้มแดง เสือสุมาตราเขียว เป็นต้น โดยทั่วไปปลาเสือสุมาตราจะมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว 5 แถบคือ สองแถบแรกพาดผ่านตาและหน้าครีบหลัง แถบที่สามพาดผ่านโคนครีบหลังและสันครีบ แถบที่สี่พาดผ่านโคนครีบก้นและลำตัว ส่วนแถบที่ห้าอยู่โคนหางครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลือง มีหนวดที่มุมปากบนหนึ่งคู่

อุปนิสัย ปลาเสือสุมาตราไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า ปลาเสือสุมาตราจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงไม่ต่ำกว่า 10 ตัว มีนิสัยดุ ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่มีครีบและหางสวยเช่น ปลาหางนกยูง เพราะปลาเสือสุมาตราจะกัดครีบและหางของปลาชนิดอื่น ๆ จนขาดวิ่นไปหมด ตามนิสัยของปลาขี้อิจฉา ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยปราดเปรียว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ดังนั้นจึงชอบน้ำในตู้ปลาที่ค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวและใสสะอาด ชอบแสงสว่างที่เจิดจ้าเป็นพิเศษ เมื่อโตเต็มที่แล้วปลาเสือสุมาตราจะมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดประมาณ 3.0-3.7 เซนติเมตร

การเพาะขยายพันธุ์ ก่อนอื่นจะต้องทำการเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยตัวผู้จะมีสีสันสดสวย ปากแดง หางแดง ครีบแดง ส่วนตัวเมียจะมีสีซีดกว่า แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ขนาดของปลาที่พร้อมจะนำมาผสมพันธุ์จะมีขนาดประมาณ 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว นำพ่อปลาและแม่ปลามาขุนในบ่อประมาณครึ่งเดือนโดยให้อาหารที่เป็นลูกน้ำหรือหนอนแดง ถ้าหากไม่มีก็สามารถใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกกบแทนได้ เมื่อครบกำหนดเวลาพ่อแม่ปลาก็จะอ้วนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นให้นำพ่อ-แม่ปลาแยกเป็นคู่ไว้ในบ่อปูน ใส่น้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร นำตะกร้าพลาสติกขนาดประมาณ 10-12 นิ้ว ทำเป็นคอกสำหรับปลา 1 คู่พร้อมกันนั้นจึงสร้างสาหร่ายเทียมให้ปลาวางไข่ สาหร่ายเทียมอาจจะทำมาจากเชือกฟางที่ฉีกเป็นฝอย ๆ นำไปมัดไว้กับก้อนหินถ่วงให้จม เท่านี้ปลาก็จะมีที่วางไข่แล้ว การเพาะปลาเสือสุมาตรามีเทคนิคอยู่ว่า เมื่อเตรียมตะกร้าและสาหร่ายสำหรับวางไข่เรียบร้อยแล้วให้นำพ่อ-แม่ปลาใส่ลงไปตอน 5 โมงเย็น พอประมาณ 3 โมงเช้าก็ให้จับพ่อ-แม่ปลาออก ตอนนี้เราก็จะเห็นไข่เกาะอยู่ตามเชือกฟาง ทิ้งไว้ 2 วันไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวแล้วจึงค่อยยกตะกร้าออก ปลาเสือสุมาตราจะวางไข่ครั้งละ 300-400 ฟอง ที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ในช่วงสองวันหลังจากฟักเป็นตัวแล้วยังไม่ต้องให้อาหาร รอให้ผ่านวันที่สี่จึงเริ่มให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายกับน้ำ ให้อาหารวันละ 4 ครั้ง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกปลา ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 3 วันก็จะเริ่มเปลี่ยนมาให้ลูกไร และเมื่อครบ 1 เดือนก็จะเริ่มให้อาหารเม็ด

อาหาร ปลาเสือสุมาตราชอบกินตัวหนอน ลูกกุ้งตัวเล็ก ๆ ลูกน้ำ ลูกไร แมลงน้ำและเศษซากพืชและสัตว์เน่าเปื่อย ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป

การตลาด ปลาเสือสุมาตราจะเริ่มขายได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน ราคาอยู่ที่ตัวละ 1 บาท แต่ถ้าเลี้ยงไว้นานขึ้นก็จะยิ่งมีราคามากขึ้นโดยปลาที่มีขนาด 1 นิ้ว จะได้ราคาตัวละ 2 บาท ถ้า 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว ก็จะมีราคาตัวละ 4 บาท เรียกได้ว่ายิ่งโตยิ่งมีราคา หากจะเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ก็ต้องเลี้ยงจนอายุประมาณ 6 เดือน ถึงจะดีที่สุด

การเริ่มต้นเลี้ยงปลาทอง

การเริ่มต้นเลี้ยงปลาทอง
การเริ่มต้นเลี้ยงปลาทองเป็นอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงปลาทอง คือ การเลือกซื้อปลาทองให้ได้ตามลักษณะสายพันธุ์ที่คุณจะเลี้ยง ถ้าหากคุณสามารถเลือกซื้อปลาทองได้ดีแล้ว คุณก็คือผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาทองไปแล้วไม่มากก็น้อย เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงปลาทองคุณควรศึกษาหาความรู้ในด้านการดูลัษณะของปลาทองตามชนิดหรือสายพันธุ์ที่คุณจะเลี้ยง คุณควรมีหลักในการเลือกซื้อไว้บ้าง มิฉะนั้นคุณอาจจะต้องเสียใจ การซื้อปลาทองตั้งแต่เล็ก ๆ โดยไม่ใส่ใจสิ่งใดเลย เมื่อปลาโตขึ้นคุณอาจต้องพบกับความผิดหวังเพราะปลาที่เลี้ยงไว้นั้นไม่สวยหรือมีลักษณะที่พิการ บางทีอาจหมดกำลังใจเลิกเลี้ยงไปเลยก็เป็นได้ แต่ตรงกันข้ามถ้าหากคุณเลือกซื้อปลาทองไห้ได้ตรงตามลักษณะตามสายพันธุ์แล้วนั้นโอกาสที่คุณจะได้ปลาทองที่ดีและมีคุณภาพนั้นก็มีมากขึ้น คุณอาจจะผสมพันธุ์ปลาทองนั้นขายเป็นผลพลอยได้อีก
การเลือกซื้อปลาทองไว้ดูเล่นถ้าไม่จำเป็นอะไรมากนักคุณควรมีหลักง่าย ๆ ในการเลือกซื้อปลาทอง คือ ข้อแรก คุณควรเลือกซื้อปลาทองจากร้านค้าปลาทองหรือฟาร์มปลาทองที่มีความน่าเชื่อถือ และคุณควรมีความสามารถที่จะดูลักษณะปลาทองตามสายพันธุ์ที่คุณจะเลี้ยงไว้บ้างพอสมควรหรือจะหาผู้ที่มีความสามารถที่จะดูลักษณะปลาไปเป็นเพื่อนเลือกซื้อปลาทอง ข้อสำคัญควรสอบถามราคาปลาทองแต่ละชนิดไว้เป็นข้อเปรียบเทียบความแตกต่างกันด้วย ข้อสอง คุณควรเลือกซื้อปลาทองที่แข็งแรงปราศจากโรค หรือปลาทองที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการขนส่ง โดยสังเกตุการว่ายน้ำของปลาจะต้องว่ายน้ำตลอดเวลาไม่อยู่นิ่ง ๆ และการว่ายน้ำนั้นต้องไม่ผิดปกติ เช่นว่ายหมุนควงตีลังกา หรือว่ายสั่นกระตุก หรือว่ายเร็วผิดปกติเอาลำตัวเสียดสีกับตู้ไปมา คุณควรเลือกซื้อปลาที่มีความกระตือรือล้น มีการเคลื่อนไหวไปมาปกติ การทรงตัวของปลามีการใช้ครีบทรงตัวปกติ และการว่ายน้ำใช้ครีบทุกครีบในการว่าย คุณอาจใช้วิธีทำให้ปลาตกใจโดยการใช้กระชอนไล่จับปลาช้า ๆ สลับกับเร็ว ๆ (หันดูเจ้าของร้านด้วยนะ) สังเกตุการเคลื่อนไหวในการหนีของปลา ปลาทองที่ดีจะต้องหนีได้รวดเร็วและการหนีนั้นเป็นไปอย่างนุ่มนวล ห้ามซื้อปลาที่ว่ายหนีไปทางนี้ทีทางโน้นทีอย่างทุรนทุรายพุ่งขึ้นพุ่งลง ปลาทองที่ว่ายน้ำหัวทิ่มว่ายดิ่งลงก้นตู้ไม่ว่ายขนานกับตู้ หรือว่ายน้ำไม่ใช้ครีบทุกครีบในการว่ายเป็นอีกข้อห้ามในการเลือกซื้อปลาทองด้วย ถึงแม้ปลาจะสวยบาดใจคุณขนาดใหนก็ตาม ข้อสาม หลีกเลี่ยงการซื้อปลาที่มีลักษณะผอมแห้งหรืออ้วนผิดรูปทรง ครีบไม่ครบ ครีบที่เป็นคู่นั้นสั้นข้างยาวข้างเล็กบ้างใหญ่บ้าง แม้ว่าเจ้าของร้านจะบอกอย่างเข้มแข็งว่าผอมอย่างนี้เป็นปลาตัวผู้ที่อ้วน ๆ ปลาตัวเมีย หรือว่าเลี้ยงไว้จำนวนมากอาหารไม่ทั่วถึงเลยผอม ปลาที่มีลักษณะผอมมักมีโรคซ่อนอยู่มักเลี้ยงไม่โตและอ่อนแอ ปลาที่อ้วนอาจเป็นปลาท้องอืดมีลมในกระเพาะเป็นสาเหตุให้ทรงตัวไม่ดีในอนาคต อีกอย่างที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณเดินเข้าร้านขายปลาควรใช้ความสังเกตุมองดูให้ทั่ว ๆ เหลือบมองลงในถังขยะบ้างก็ดีว่ามีปลาตายบ้างหรือไม่ ตามตู้ปลามีปลาตายอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นเช่นนั้นแล้วพึงควรหลีกเลี่ยงไว้ด้วย ปลาทองที่ดีและไม่เป็นโรคนั้นสังเกตุได้จากความสดใสบนตัวปลาจะต้องไม่มีรอยขีดขูดใด ๆ เกล็ดต้องมีความแวววาวและเป็นระเบียบ ครีบทุกครีบต้องไม่ขาดวิ่นหรือเปื่อย หรือมีจุดตกเลือดตามลำตัวครีบและหางอีกทั้งไม่มีสิ่งแปลกปลอมเกาะติดตามตัวหรือมีจุดใด ๆ ปูดโปนออกมา ดวงตาสดใสไม่ขุ่นมัว มีสีสันสดใส ในกรณีที่มีปลาในตู้ใดมีสิ่งผิดปกติตามที่กล่าวมาควรเปลี่ยนไม่เลือกซื้อปลาในตู้นั้น เพื่อป้องกันการซื้อปลาทองที่เป็นโรคหรือนำโรคปลาทองกับไปแพร่ยังปลาที่บ้าน
ข้อเสนอแนะในการเลือกซื้อปลาทอง การเลือกซื้อปลาทองไม่ใช่เรื่องยากและก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณควรคำนึงถึงลักษณะรูปทรงตามสายพันธุ์ต่าง ๆ ของปลาทอง เลือกซื้อปลาทองจากร้านที่ได้มาตราฐาน ภายในร้านมีการดูแลเอาใจใส่ปลาเป็นอย่างดี ข้อสำคัญต้องสังเกตุว่าปลาจะต้องไม่เป็นโรค ถ้าเกิดเจอปลาในตู้ใดที่เลือกอยู่มีปลาที่มีลักษณะส่อถึงการเกิดโรคแล้วไม่ควรซื้อปลาในตู้นั้นโดยเด็ดขาด แม้ว่าจะมีปลาที่ได้เลือกในตู้นั้นแล้วสมบูรณ์และสวยงามมากก็ตาม ควรเปลี่ยนตู้ใหม่หรือเปลี่ยนร้านไปเลยก็ได้ ควรเปรียบเทียบราคาปลาทองแต่ละร้านไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจ ทั้งด้านราคาหรือคุณภาพ แต่ถ้าหากเจอปลาที่ดีแล้วหละก็ไม่ควรรีรอ เพราะอาจถูกแย่งไปต่อหน้าต่อตา โดยเฉพาะห้ามพาเพื่อนที่มีความต้องการปลาทองเหมือนคุณไปเลือกซื้อปลาทองด้วยกัน เพราะอาจถูกแย่งได้ สิ่งที่สมควรพาไปด้วยมากที่สุดคือผู้ที่มีความรู้เรื่องปลาทองในด้านการดูลักษณะและสามารถให้ความรู้กับคุณได้หรือมีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงปลาทอง ถ้าหากคุณยังไม่มีประสบการณ์มากนักและไม่มีผู้ให้คำปรึกษา ขอแนะนำให้ซื้อปลาทองที่มีราคาไม่แพงนัก ราคาถูก มีลักษณะดี หรือปลาทองขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพงมาฝึกเลี้ยงก่อนก็จะดี ข้อจำเป็นอีกประการก่อนซื้อปลาทองไปเลี้ยงควรเตรียมอุปกรณ์และภาชนะที่จะใช้เลี้ยงรวมถึงน้ำที่จะใช้ให้พร้อมก่อนไปซื้อปลา อีกทั้งขนาดของภาชนะที่จะเลี้ยงกับขนาดและจำนวนของปลาทองด้วย อย่าหลงเชื่อว่าปลาทองที่มีราคาแพงจะต้องเป็นปลาที่ดีเสมอไป หรือปลาทองที่มาจากต่างประเทศจะเป็นปลาที่ถูกต้องตามลักษณะและเป็นปลาทองที่ดี ปลาทองที่มีราคาถูกกว่าหรือปลาทองที่เพาะเลี้ยงในประเทศก็เป็นปลาทองที่ดีได้เช่นกัน จากข้อแนะนำที่กล่าวมาแล้วนี้ คงมีประโยชน์ในการที่จะช่วยคุณเลือกซื้อปลาทองที่ดีและมีคุณภาพได้บ้างนะครับ